ขออภัยมีข้อจำกัดในการแสดงผล
บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
พระราชกฤษฎีกา
กฎกระทรวง
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร
ประกาศกระทรวงการคลัง
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
คำสั่งกรมสรรพากร
ประกาศกรมสรรพากร
 
 
     
 

คำสั่งกรมสรรพากร

ที่ ท.ป.130/2546

เรื่อง มอบอำนาจให้สรรพากรภาคสั่งและปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร

 

--------------------------------

 

                เพื่อให้การปฏิบัติราชการตามประมวลรัษฎากรบางกรณีสำหรับสำนักงานสรรพากรภาคเป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 38(7) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 และมาตรา 2 แห่งประมวลรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

 

                ข้อ   1   ให้ยกเลิกคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.118/2545 เรื่อง มอบอำนาจให้สรรพากรภาคสั่งและปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร ลงวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2545

 

                ข้อ   2   มอบอำนาจให้สรรพากรภาคสั่งและปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากรในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรภาคนั้น ดังต่อไปนี้

                         (1) การใช้อำนาจตามมาตรา 12 และมาตรา 12 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

                         (2) การอนุมัติให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ถือเงินที่จ่ายสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่แก้ไขให้ถูกต้องหรือในรอบระยะเวลาบัญชีที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องได้ สำหรับกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องในการส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามข้อ 5 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 183 (พ.ศ. 2533) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

                         (3) การอนุมัติให้ถือว่าผู้มีหน้าที่หักภาษีได้ยื่นแบบแสดงรายการนำส่ง ภาษีถูกต้องตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดโดยอนุโลม ในกรณีผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ได้นำส่งภาษีโดยมิได้ใช้แบบแสดงรายการตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด สำหรับการหักภาษี ตามมาตรา 3 เตรส มาตรา 50 มาตรา 69 ทวิ และมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร

                         (4) การอนุมัติขยายกำหนดเวลาการอุทธรณ์ตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร ตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร

                         (5) การอนุมัติให้ทุเลาการเสียภาษีอากรระหว่างรอคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือคำพิพากษาของศาล ตามมาตรา 31 แห่งประมวลรัษฎากร

                         (6) การรับจำนอง การรับจำนำ การไถ่ถอนการจำนอง และการคืน ทรัพย์สินที่จำนำกรณีการใช้ทรัพย์สินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันหนี้ภาษีอากร และให้มีอำนาจมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปทำการดังกล่าวแทนได้ด้วย

                         (7) การสั่งคืนสัญญาค้ำประกันที่ใช้ค้ำประกันหนี้ภาษีอากรค้างระหว่างขอทุเลาการเสียภาษีอากรหรือการผ่อนชำระภาษีอากรค้าง เมื่อปรากฏว่าผู้ค้างภาษีอากรได้ชำระภาษีอากรค้างครบถ้วนแล้ว หรือได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วให้ปลดหนี้ภาษีอากรค้าง รวมถึงการแจ้งหมดภาระผูกพันตามสัญญาค้ำประกันไปยังผู้ค้ำประกันด้วย

                         (8) การอนุมัติให้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลังตามมาตรา 85 วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะกรณีที่ผู้ประกอบการได้ประกอบกิจการโดยไม่ได้ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ได้ปฏิบัติเกี่ยวกับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกับผู้ประกอบการ จดทะเบียนโดยได้มีการออกใบกำกับภาษี จัดทำรายงาน และยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มภายในกำหนดเวลา

 

                “ข้อ   3   มอบอำนาจให้นักวิชาการภาษี 9 ชช. ที่ปฏิบัติราชการ ณ สำนักงานสรรพากรภาค สั่งและปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 2(2) (3) (4) (5) (6) (7) และ (8) ในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรภาคนั้น

                     การสั่งและปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากรของนักวิชาการภาษี 9 ชช. ตามวรรคหนึ่ง สรรพากรภาคจะกำหนดหลักเกณฑ์ในการสั่งและปฏิบัติราชการแทนตามความเหมาะสมในแต่ละกรณีก็ได้”

                     (แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.143/2547 ใช้บังคับ 17 พฤศจิกายน 2547 เป็นต้นไป)

 

                ข้อ   4   คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ที่ลงในคำสั่งนี้เป็นต้นไป

 

สั่ง ณ วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2546

 

ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล

(นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล)

อธิบดีกรมสรรพากร

 

space

NAVIGATOR:  ประมวลรัษฎากร > คำสั่งกรมสรรพากร > ท.ป.130/2546