บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
พระราชกฤษฎีกา
กฎกระทรวง
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร
ประกาศกระทรวงการคลัง
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
คำสั่งกรมสรรพากร
ประกาศกรมสรรพากร
 
 
     
 
พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 425)
พ.ศ. 2547
--------------------------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2547
เป็นปีที่ 59 ในรัชกาลปัจจุบัน
     พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

      โดยที่เป็นการสมควรลดอัตราภาษีเงินได้สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นค่าเช่าเรือเดินทะเลขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ

      อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

      มาตรา  1   พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 425) พ.ศ. 2547"

      มาตรา  2   พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

      มาตรา  3   ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ที่นำมาคำนวณภาษีเงินได้ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 1 สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นค่าเช่าเรือเดินทะเลที่ใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งการเช่าเรือนั้นได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการ ส่งเสริมการพาณิชยนาวี ทั้งนี้ เฉพาะค่าเช่าที่มีการจ่ายตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับ ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2550

      มาตรา  4   ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ  :-   เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรลดอัตราภาษีเงินได้ที่นำมาคำนวณภาษีเงินได้ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ พึงประเมินที่เป็นค่าเช่าเรือเดินทะเลที่ใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เพื่อเป็นการส่งเสริม กิจการพาณิชยนาวีของประเทศให้มีการพัฒนาและขยายกองเรือเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องตรา พระราชกฤษฎีกานี้

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 121 ตอนพิเศษ 65 ก วันที่ 22 ตุลาคม 2547)



NAVIGATOR:  ประมวลรัษฎากร > พระราชกฤษฎีกา > ฉบับที่ 425/2547