ขออภัยมีข้อจำกัดในการแสดงผล
บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
พระราชกฤษฎีกา
กฎกระทรวง
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร
ประกาศกระทรวงการคลัง
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
คำสั่งกรมสรรพากร
ประกาศกรมสรรพากร
 
 
     
 

พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ 240)
พ.ศ. 2534
--------------------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2534
เป็นปีที่ 46 ในรัชกาลปัจจุบัน


                    พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

                    โดยที่เป็นการสมควรกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ

                    อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและมาตรา 91/3(7) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ดังต่อไปนี้

                    มาตรา 1  พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ 240) พ.ศ. 2534”

                    มาตรา 2  พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2534 เป็นต้นไป

                    “มาตรา 3  ให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับกิจการดังต่อไปนี้

                    (1) กิจการขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในตลาดหลักทรัพย์

                    (2) กิจการของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม

                    (3) กิจการของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 257) พ.ศ. 2535 ใช้บังคับ 1 มกราคม 2535 เป็นต้นไป).

                    “(4) กิจการของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 265) พ.ศ. 2536 ใช้บังคับ 7 กันยายน 2536 เป็นต้นไป)

                    “(5) กิจการของกองทุนสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 316) พ.ศ. 2541 ใช้บังคับ 17 มีนาคม 2541 เป็นต้นไป)

                    “(6) กิจการขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 322) พ.ศ. 2541 ใช้บังคับ 25 ตุลาคม 2540 เป็นต้นไป)

                    “(7) กิจการของบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 328) พ.ศ. 2541 ใช้บังคับ 1 กันยายน 2541 เป็นต้นไป)

                    “(8) กิจการของนิติบุคคลเฉพาะกิจในส่วนที่เกี่ยวกับการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์เฉพาะกรณี ดังต่อไปนี้

                           (ก) กิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการรับโอนทรัพย์สินจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หริอนิติบุคคลอื่น หรือการโอนทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือ นิติบุคคลอื่น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

                           (ข) การประกอบกิจการที่ได้รับโอนมาจากผู้โอนซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/3 แห่งประมวลรัษฎากร

                    (9) กิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นในส่วนที่เกี่ยวกับการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ เฉพาะกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการโอนทรัพย์สินให้แก่นิติบุคคลเฉพาะกิจหรือการรับโอนทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนจากนิติบุคคลเฉพาะกิจ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 334) พ.ศ. 2541 ใช้บังคับ 6 พฤศจิกายน 2541 เป็นต้นไป)
(ดูประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ 3))

                    “(10) กิจการของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน และกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เฉพาะการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ และการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 337) พ.ศ. 2541 ใช้บังคับ 12 พฤศจิกายน 2541 เป็นต้นไป)

                    “(11) กิจการของบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 344) พ.ศ. 2541 ใช้บังคับ 2 กุมภาพันธ์ 2541 เป็นต้นไป)

                    “(12) กิจการของการเคหะแห่งชาติ เฉพาะการให้กู้ยืมเงินตามโครงการพัฒนาคนจนในเมือง

                    (13) กิจการของสหกรณ์ประเภทสหกรณ์บริการซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับการจัดหาที่อยู่อาศัยให้แก่สมาชิก เฉพาะการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้

                            (ก) ต้องเป็นสหกรณ์ที่เป็นสมาชิกของโครงการพัฒนาคนจนในเมืองของการเคหะแห่งชาติ และได้รับเงินกู้ตามโครงการดังกล่าว

                            (ข) ต้องนำเงินกู้ที่ได้รับไปจัดซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อขายต่อให้แก่สมาชิกของสหกรณ์นั้น”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 355) พ.ศ. 2542 ใช้บังคับ 22 พฤษภาคม 2542 เป็นต้นไป)

                    “(14) กิจการของสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์สำหรับรายรับตามมาตรา 91/5(1)(ก) มาตรา 91/5(2)(ก) และมาตรา 91/5(5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะกรณีที่

                             (ก) สถาบันการเงินนั้นถือหุ้นในบริษัทบริหารสินทรัพย์เกินกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง หรือในกรณีที่สถาบันการเงินนั้นถือหุ้นในบริษัทบริหารสินทรัพย์ไม่เกินกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงจะต้องมีนิติบุคคลรายหนึ่งถือหุ้นในบริษัทบริหารสินทรัพย์และสถาบันการเงินนั้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง

                             (ข) เป็นรายรับที่ได้จากบริษัทบริหารสินทรัพย์ เนื่องจาก

                                   (1) การให้สินเชื่อแก่บริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินนั้นหรือสถาบันการเงินอื่นที่มีสถาบันการเงินนั้นถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง หรือ

                                   (2) การให้สินเชื่อแก่บริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อใช้ในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่รับซื้อหรือรับโอนจากสถาบันการเงินนั้นหรือสถาบันการเงินอื่นที่มีสถาบันการเงินนั้นถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง

                             (ค) สถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 361) พ.ศ. 2542 ใช้บังคับ 1 ตุลาคม 2542 เป็นต้นไป)
(ดูประกาศอธิบดีฯ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขสำหรับการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะของสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์)

                    “(15) กิจการขายอสังหาริมทรัพย์เฉพาะที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจาก

                             (ก) การรับไถ่อสังหาริมทรัพย์จากการขายฝากหรือการไถ่อสังหาริมทรัพย์จากการขายฝากโดยการางทรัพย์ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด

                             (ข) การขายอสังหาริมทรัพย์ภายหลังที่ได้ไถ่จากการขายฝาก ซึ่งเมื่อรวมระยะเวลาการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ก่อนการขายฝาก ระยะเวลาระหว่างการขายฝากและระยะเวลาภายหลังจากการขายฝากแล้วเกินห้าปี”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 365) พ.ศ. 2543 ใช้บังคับ 10 เมษายน 2541 เป็นต้นไป)

                    “(16) กิจการของรัฐวิสาหกิจในส่วนของรายรับที่ได้รับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ อันเนื่องมาจากการนำทุนบางส่วนหรือทั้งหมดมาเปลี่ยนสภาพเป็นหุ้นในรูปแบบของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 371) พ.ศ. 2543 ใช้บังคับ 30 ตุลาคม 2543 เป็นต้นไป)

                    “(17) กิจการของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เฉพาะการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 379) พ.ศ. 2544 ใช้บังคับ 26 ตุลาคม 2543 เป็นต้นไป)

                    “(18) กิจการของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 382) พ.ศ. 2544 ใช้บังคับ 25 มีนาคม 2541 เป็นต้นไป)

                    “(19) กิจการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนาการศึกษาโรงเรียนเอกชนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 386) พ.ศ. 2544 ใช้บังคับ 1 มกราคม 2535 เป็นต้นไป)

                    “(20) กิจการของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่กฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการมีผลใช้บังคับ

                    (21) กิจการของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้อง ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เฉพาะการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์และการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 400) พ.ศ. 2545 ใช้บังคับ 31 มกราคม 2545 เป็นต้นไป)

                    “(22) กิจการของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เฉพาะการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ และการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535 เป็นต้นไป”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 419) พ.ศ. 2547 ใช้บังคับ 10 สิงหาคม 2547 เป็นต้นไป)

                    “(23) กิจการของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เฉพาะการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้รับโอนเนื่องจากการให้เช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 445) พ.ศ. 2548 ใช้บังคับ 31 ธันวาคม 2548 เป็นต้นไป)

                    “(24) กิจการของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2545 เป็นต้นไป”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 449) พ.ศ. 2549 ใช้บังคับ 20 ธันวาคม 2545 เป็นต้นไป)

                    “(25) กิจการขายข้อตกลงซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 เป็นต้นไป”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 451) พ.ศ. 2549 ใช้บังคับ 28 พฤษภาคม 2547 เป็นต้นไป)

                    “(26) กิจการขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่เปิดทำการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้นเป็นต้นไป”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 455) พ.ศ. 2549 ใช้บังคับ 28 เมษายน 2549 เป็นต้นไป)

                    “(๒๗) กิจการของสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) เฉพาะการให้กู้ยืมเงินแก่รัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน รัฐวิสาหกิจ หรือสถาบันการเงินของรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๘ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ เป็นต้นไป”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ ๔๘๕) พ.ศ. ๒๕๕๒ ใช้บังคับ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เป็นต้นไป)

                    “(๒๘) กิจการของสถาบันคุ้มครองเงินฝากตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นต้นไป”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ ๔๙๐) พ.ศ. ๒๕๕๒ ใช้บังคับ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นต้นไป)

                    มาตรา 4  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลตำรวจเอก เภา สารสิน

รองนายกรัฐมนตรี


----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อบรรเทาภาระภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่กิจการขายหลักทรัพย์ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

 

(ร.จ.เล่ม 108 ตอนที่ 229 วันที่ 26 ธันวาคม 2534)

 

space

NAVIGATOR:  ประมวลรัษฎากร > พระราชกฤษฎีกา > ฉบับที่ 240/2534