บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
พระราชกฤษฎีกา
กฎกระทรวง
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร
ประกาศกระทรวงการคลัง
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
คำสั่งกรมสรรพากร
ประกาศกรมสรรพากร
 
 
     
  กฎกระทรวง
กฎกระทรวง
ฉบับที่ 144 (พ.ศ. 2522)
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยภาษีเงินได้




อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2521 และมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2513 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1  การหักภาษี ณ ที่จ่ายของผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งของอธิบดีกรมสรรพากรตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและอัตราที่กำหนดไว้ในข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 4
“ข้อ 2   การคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้คำนวณหักไว้ทุกครั้งที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน ในอัตราร้อยละของยอดเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในแต่ละครั้ง ตามประเภทเงินได้พึงประเมิน ดังต่อไปนี้
(1) การจ่ายค่าซื้อพืชผลทางการเกษตร ร้อยละ 0.75
(2) การจ่ายรางวัลในการประกวด การแข่งขัน การชิงโชค หรือการอื่นใดอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน ร้อยละ 5.0”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 163 (พ.ศ. 2527) ใช้บังคับ 1 พฤศจิกายน 2527 เป็นต้นไป)
“(3) การจ่ายค่าแสดงให้แก่
      “(ก) นักแสดงสาธารณะซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ ตามอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา เว้นแต่นักแสดงสาธารณะที่เป็นนักแสดงภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ เฉพาะกรณีที่มีการดำเนินการถ่ายทำ ภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ในประเทศไทยโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำในประเทศไทยจากคณะอนุกรรมการพิจารณา คำขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ตามระเบียบคณะกรรมการส่งเสริม อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ว่าด้วยการขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย พ.ศ. 2544 ร้อยละ 10.0”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 238 (พ.ศ. 2545) ใช้บังคับ 28 กันยายน 2545 เป็นต้นไป)
      (ข) นักแสดงสาธารณะนอกจาก (ก) ร้อยละ 5.0
คำว่า “นักแสดงสาธารณะ” หมายความว่า นักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุหรือโทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใด ๆ”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 185 (พ.ศ. 2534) ใช้บังคับ 9 สิงหาคม 2534 เป็นต้นไป)
“(4) การจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่
      (ก) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ร้อยละ 1.0
      (ข) มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ร้อยละ 10.0”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 229 (พ.ศ. 2544) ใช้บังคับ 27 มิถุนายน 2544 เป็นต้นไป)
“(5) การจ่ายเงินได้พึงประเมินให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศที่กระทำกิจการในประเทศไทย ร้อยละ 5.0”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 163 (พ.ศ. 2527) ใช้บังคับ 1 พฤศจิกายน 2527 เป็นต้นไป)
“(6) การจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ร้อยละ 10.0”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 173 (พ.ศ. 2530) ใช้บังคับ 1 พฤศจิกายน 2530 เป็นต้นไป)
(7) การจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่
      (ก) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 5.0
      (ข) มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ร้อยละ10.0
      “(ค) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นค่าเช่าเรือตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพาณิชยนาวี ที่ใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ร้อยละ 1.0”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 203 (พ.ศ. 2539) ใช้บังคับ 4 ตุลาคม 2539 เป็นต้นไป)
(8) การจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่
      (ก) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 3.0
      (ข) มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ร้อยละ 10.0
(9) การจ่ายค่าจ้างทำของ ร้อยละ 3.0
(10) การจ่ายค่าซื้อสัตว์น้ำ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต และส่วนต่าง ๆ ของสัตว์น้ำไม่ว่าจะสดหรือแช่เย็น แช่เย็นจนแข็ง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อรักษาไว้มิให้เปื่อยเน่าในระหว่างการขนส่ง ร้อยละ 1.0
“(11) การจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่
      (ก) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ร้อยละ 3.0
      (ข) มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ร้อยละ 10.0”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 229 (พ.ศ. 2544) ใช้บังคับ 27 มิถุนายน 2544 เป็นต้นไป)
“(12) การจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่
      (ก) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ร้อยละ 3.0
      (ข) มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ร้อยละ 10.0 ”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 229 (พ.ศ. 2544) ใช้บังคับ 27 มิถุนายน 2544 เป็นต้นไป)
“(13) การจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่เป็นการจ่ายเงินได้จากการให้บริการอื่น ๆ นอกเหนือจากกรณีที่กำหนดไว้ใน (3)(9)(15)(16) และ (17) แต่ไม่รวมถึงการจ่ายค่าบริการของโรงแรม ค่าบริการของภัตตาคาร และค่าเบี้ยประกันชีวิต ร้อยละ 3.0
คำว่า “การให้บริการ” หมายความว่า การกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่การขายสินค้า
คำว่า “ภัตตาคาร” หมายความว่า กิจการขายอาหารหรือเครื่องดื่มไม่ว่าชนิดใด ๆ รวมทั้งกิจการรับจ้างปรุงอาหารหรือเครื่องดื่ม ทั้งนี้ ไม่ว่าในหรือจากสถานที่ซึ่งจัดให้ประชาชนเข้าไปบริโภคได้”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 234 (พ.ศ. 2544) ใช้บังคับ 15 กันยายน 2544 เป็นต้นไป)
“(14) การจ่ายรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย ร้อยละ 3.0
(15) การจ่ายค่าโฆษณา ร้อยละ 2.0
(16) การจ่ายค่าเบี้ยประกันวินาศภัย ร้อยละ 1.0”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 229 (พ.ศ. 2544) ใช้บังคับ 27 มิถุนายน 2544 เป็นต้นไป)
“(17) การจ่ายค่าขนส่ง แต่ไม่รวมถึงการจ่ายค่าโดยสารสำหรับการขนส่งสาธารณะ ร้อยละ 1.0”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 234 (พ.ศ. 2544) ใช้บังคับ 15 กันยายน เป็นต้นไป)
“(18) กรณีอื่น ๆ ร้อยละ 2.0”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 234 (พ.ศ. 2544) ใช้บังคับ 15 กันยายน เป็นต้นไป)
ข้อ 3  ในกรณีที่มีการจ่ายเงินได้พึงประเมินให้แก่ผู้รับตามสัญญารายหนึ่ง ๆ มีจำนวนรวมทั้งสิ้นไม่ถึงห้าร้อยบาท ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
ข้อ 4   การนำส่งภาษีที่ต้องหักตามข้อ 2 ให้นำส่งตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

ให้ไว้ ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522

ชาญชัย ลี้ถาวร
รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ รักษาราชการแทน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2521 บัญญัติให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน มาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขและอัตราที่กำหนดโดยกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงฉบับนี้

(ร.จ. เล่ม 96 ตอนที่ 203 วันที่ 11 ธันวาคม 2522)


NAVIGATOR:  ประมวลรัษฎากร > กฎกระทรวง > ฉบับที่ 144