บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
พระราชกฤษฎีกา
กฎกระทรวง
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร
ประกาศกระทรวงการคลัง
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
คำสั่งกรมสรรพากร
ประกาศกรมสรรพากร
 
 
     
  พระราชกฤษฎีกา
พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 331)
พ.ศ. 2541



ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2541
เป็นปีที่ 53 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ผู้ยืมและผู้ให้ยืมหลักทรัพย์บางกรณี
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1  พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 331) พ.ศ. 2541”
มาตรา 2  พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2541 เป็นต้นไป
มาตรา 3   ในพระราชกฤษฎีกานี้
“ผู้ยืมหรือผู้ให้ยืม” หมายความว่า ผู้ยืมหรือผู้ให้ยืมหลักทรัพย์ซึ่งเป็นบุคคลดังต่อไปนี้
(1) ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(2) ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(3) ผู้ซึ่งมอบหมายให้บุคคลตาม (1) หรือ (2) เป็นตัวแทนหรือนายหน้าในการทำสัญญายืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์
(4) ผู้ซึ่งทำสัญญายืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์กับบุคคลตาม (1) หรือ (2)
“สัญญายืมหรือให้ยืมหลักทรัพย” หมายความว่า สัญญายืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์ตามความหมายที่กำหนดในวรรคสามของข้อ 2 แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดกิจการอื่นที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์ให้เป็นธุรกิจหลักทรัพย์ ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดกิจการอื่นที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์ให้เป็นธุรกิจหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2540
“เงินชดเชยเงินปันผล” หมายความว่า เงินที่ผู้ยืมหรือผู้ให้ยืมจะต้องจ่ายให้แก่ผู้ให้ยืมหรือผู้ยืม เนื่องจากมีการจ่ายเงินปันผลของหลักทรัพย์ที่ให้ยืมหรือที่ใช้เป็นหลักประกันในระหว่างที่มีการยืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์
“เงินชดเชยดอกเบี้ย” หมายความว่า เงินที่ผู้ยืมหรือผู้ให้ยืมจะต้องจ่ายให้แก่ผู้ให้ยืมหรือผู้ยืม เนื่องจากมีการจ่ายดอกเบี้ยของหลักทรัพย์ที่ให้ยืมหรือที่ใช้เป็นหลักประกันในระหว่างที่มีการยืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์
มาตรา 4  ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ใน ลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้ยืมและผู้ให้ยืมสำหรับเงินได้ที่เกิดจากการโอนหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการยืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
ในกรณีที่ผู้ยืมหรือผู้ให้ยืมตามวรรคหนึ่ง เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย หากได้รับเงินชดเชยเงินปันผลหรือเงินชดเชยดอกเบี้ยเนื่องจากการยืมหรือการให้ยืมหลักทรัพย์ต้องยอมให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินชดเชยเงินปันผลที่ได้รับ หรือในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินชดเชยดอกเบี้ยที่ได้รับ จึงจะได้รับยกเว้นภาษีตามความในวรรคหนึ่ง
มาตรา 5  ผู้ยืมหรือผู้ให้ยืมซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 4 หากยอมให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินชดเชยเงินปันผลที่ได้รับ หรือในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินชดเชยดอกเบี้ยที่ได้รับเมื่อถึงกำหนดยื่นรายการให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำเงินชดเชยเงินปันผลหรือเงินชดเชยดอกเบี้ยดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้ยืมหรือผู้ให้ยืมดังกล่าวไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืนหรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
มาตรา 6  ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินปันผลที่ได้จากบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากกองทุนรวมที่จัดตั้งตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้แก่
(1) บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่ได้รับโอนกลับคืนมา ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งหลักทรัพย์ที่ออกโดยนิติบุคคลหรือโครงการจัดการกองทุนรวมเดียวกัน ประเภท รุ่นและชนิดเดียวกัน และในจำนวนที่เทียบเท่ากับหลักทรัพย์ที่ให้ยืมหรือที่ใช้เป็นหลักประกันในการยืม เป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับ
(2) บริษัทตาม (1) ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนหรือเป็นบริษัทที่ถือหุ้นในบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง โดยบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทนั้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม เป็นจำนวนเท่ากับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับ
ทั้งนี้ บริษัทตาม (1) และ (2) ต้องเป็นผู้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ตามมาตรา 4 และได้ถือหุ้นหรือหน่วยลงทุนที่ก่อให้เกิดเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรไว้ไม่น้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่ได้หุ้นหรือหน่วยลงทุนนั้นมาจนถึงวันที่มีเงินได้ดังกล่าวและยังคงถือหุ้นหรือหน่วยลงทุนนั้นต่อไปอีกไม่น้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่มีเงินได้ โดยให้นับระยะเวลาที่ได้ให้ยืมหุ้นหรือหน่วยลงทุนหรือระยะเวลาที่ได้ใช้หุ้นหรือหน่วยลงทุนเป็นหลักประกันรวมด้วย
มาตรา 7  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีประกาศกระทรวงการคลังกำหนดให้การประกอบกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์เป็นธุรกิจหลักทรัพย์ตาม (7) ของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาตลาดทุนของประเทศ แต่เนื่องจากการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์มีธุรกรรมที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีอากร จึงไม่จูงใจให้ผู้ลงทุนทำการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตลาดทุนของประเทศในระยะยาว สมควรยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์บางกรณี จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 115 ตอนที่ 73 ก วันที่ 16 ตุลาคม 2541)


NAVIGATOR:  ประมวลรัษฎากร > พระราชกฤษฎีกา > ฉบับที่ 331/2541