ขออภัยมีข้อจำกัดในการแสดงผล
บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
พระราชกฤษฎีกา
กฎกระทรวง
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร
ประกาศกระทรวงการคลัง
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
คำสั่งกรมสรรพากร
ประกาศกรมสรรพากร
 
 
     
 

พระราชกฤษฎีกา

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร   (ฉบับที่ 405)

พ.ศ. 2545

---------------------------

ภูมิพลอดุลยเดช  ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2545

เป็นปีที่ 57 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

                        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่าโดยที่เป็นการสมควรลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้ บางกรณี

 

                        อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ดังต่อไปนี้

 

                        มาตรา 1   พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 405) พ.ศ. 2545”

 

                        มาตรา 2   พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

                        มาตรา 3   ในพระราชกฤษฎีกานี้

                        “คนต่างด้าว” หมายความว่า บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย

                        “สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค” หมายความว่า บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยเพื่อประกอบกิจการให้บริการด้านการบริหารหรือด้านเทคนิค หรือการให้บริการสนับสนุนแก่วิสาหกิจในเครือหรือสาขาของตน ไม่ว่าจะตั้งอยู่ในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ

                        “การให้บริการสนับสนุน” หมายความว่า การให้บริการสนับสนุนในเรื่องดังต่อไปนี้

                         (1)   การบริหารงานทั่วไป การวางแผนทางธุรกิจ และการประสานงานทางธุรกิจ

                         (2)   การจัดหาวัตถุดิบและชิ้นส่วน

                         (3)   การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์

                         (4)   การสนับสนุนด้านเทคนิค

                         (5)   การส่งเสริมด้านการตลาดและการขาย

                         (6)   การบริหารด้านงานบุคคลและการฝึกอบรมในภูมิภาค

                         (7)   การให้คำปรึกษาด้านการเงิน

                         (8)   การวิเคราะห์และวิจัยด้านเศรษฐกิจและการลงทุน

                         (9)   การจัดการและควบคุมสินเชื่อ

                         (10) การให้บริการสนับสนุนอื่น ๆ ตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด                    

                         “วิสาหกิจในเครือ”  หมายความว่า  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีความสัมพันธ์กับสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค ในลักษณะดังต่อไปนี้

                         (1)  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งถือหุ้นในสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของทุนทั้งหมด

                         (2)  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของทุนทั้งหมด

                         (3)  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตาม (1) ถือ หุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของทุนทั้งหมด

                         (4)  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีอำนาจควบคุมกิจการหรือกำกับดูแลการดำเนินงานและการบริหารงานของสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค       

                         (5)  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล  ซึ่งสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคมีอำนาจควบคุมกิจการหรือกำกับดูแลการดำเนินงานและการบริหารงาน

                         (6)  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตาม (4) มีอำนาจควบคุมกิจการหรือกำกับดูแลการดำเนินงานและการบริหารงาน

 

                    มาตรา 4   ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ในการหักภาษี ณ ที่จ่ายและคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่คนต่างด้าวได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานของสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค ซึ่งเมื่อคำนวณตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีในอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สูงกว่าร้อยละ 15.0 ของเงินได้

                          ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามวรรคหนึ่ง เมื่อคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายน้อยกว่าร้อยละ 15.0 ของเงินได้ ให้คนต่างด้าวผู้มีเงินได้มีสิทธิได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 5 เมื่อคนต่างด้าวนั้นยอมให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้นั้น

 

                     มาตรา 5   ให้คนต่างด้าวซึ่งถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้แล้วในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 4 เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมิน ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้พึงประเมินนั้น มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่คนต่างด้าวไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืนหรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน 

                            ในกรณีที่คนต่างด้าวมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากรไว้แล้ว และมีสิทธิเลือกเสียภาษีตามมาตรา 48(3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร คนต่างด้าวจะมีสิทธิได้รับการยกเว้นตามวรรคหนึ่ง เมื่อปรากฏว่า ในการยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมิน คนต่างด้าวมิได้นำเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากรดังกล่าว และเงินได้พึงประเมินที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 4 มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ โดยต้องไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืนหรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

                             ในการได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง คนต่างด้าวต้องยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ด้วย

 

                   มาตรา 6   ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่คนต่างด้าวซึ่งทำงานประจำสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค สำหรับเงินได้ที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานซึ่งเกิดจากการที่คนต่างด้าวนั้นถูกส่งตัวไปปฏิบัติงานในต่างประเทศ ทั้งนี้ ต้องไม่นำเงินได้นั้นมาหักเป็นรายจ่าย ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในการคำนวณภาษีเงินได้ของสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคหรือวิสาหกิจในเครือซึ่งประกอบกิจการในประเทศไทย

 

                   ”มาตรา 7   คนต่างด้าวซึ่งจะได้รับสิทธิตามมาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 6 ต้องเป็นคนต่างด้าวซึ่งทำงานประจำสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคที่มีคุณสมบัติตามมาตรา 10 โดยให้ได้รับสิทธิดังกล่าวในระหว่างการทำงานเป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่เกินสี่ปี ไม่ว่าในระหว่างเวลานั้นจะได้เดินทางออกจากประเทศไทยเป็นครั้งคราวหรือไม่ก็ตาม”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 461 พ.ศ.2549 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2545 เป็นต้นไป)

 

                  มาตรา 8   ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ ตาม (ก) ของ (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 10.0 ของกำไรสุทธิ ให้แก่สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค สำหรับรายได้

ดังต่อไปนี้

                            (1)  รายได้จากการให้บริการของสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคแก่วิสาหกิจในเครือ หรือสาขาต่างประเทศของสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค

                            (2)  ดอกเบี้ยที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือ หรือสาขาต่างประเทศของสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค ทั้งนี้ เฉพาะดอกเบี้ยจากเงินกู้ยืมที่สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคได้กู้มาเพื่อให้กู้ยืมต่อ

                            (3)  ค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือ หรือสาขาต่างประเทศของสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค หรือจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เฉพาะค่าสิทธิที่เกิดจากผลการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคที่กระทำขึ้นในประเทศไทย

                            บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องตาม (3) หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่นำผลการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคไปใช้ในการผลิตสินค้าหรือให้บริการแก่สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค วิสาหกิจในเครือ หรือสาขาต่างประเทศของสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค

 

                  มาตรา  9   ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นเงินปันผลที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ

 

                  มาตรา 10  สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคที่จะได้รับสิทธิตามมาตรา 8 และมาตรา 9 ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

                           (1)   มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่สิบล้านบาทขึ้นไป

                           (2)   มีการให้บริการแก่วิสาหกิจในเครือในต่างประเทศ หรือสาขาของตนในต่าง-ประเทศอย่างน้อยสามประเทศ

                           (3)   มีรายได้ตามมาตรา 8(1) และ (3) ที่จ่ายจากหรือในต่างประเทศรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของรายได้ทั้งหมด เว้นแต่ภายในเวลาสามรอบระยะเวลาบัญชีแรกนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่จดแจ้งการเป็นสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคตาม (4) อาจมีรายได้ดังกล่าวไม่ถึงร้อยละห้าสิบก็ได้แต่ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของรายได้ทั้งหมด กรณีมีเหตุสุดวิสัยอันมิใช่ความผิดของสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคหรือมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง ให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจพิจารณาผ่อนผันให้น้อยกว่าอัตราร้อยละที่กำหนดดังกล่าวได้ แต่ให้ผ่อนผันได้เพียงหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี

                            (4)   ได้จดแจ้งการเป็นสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

                                     ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 109) )

                            (5)   ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

                                    ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 109) )

 

                   มาตรา 11   ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นเงินปันผลที่ได้รับจากสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคตามมาตรา 10 เฉพาะที่จ่ายจากกำไรสุทธิอันเกิดจากรายได้ตามมาตรา 8

 

                   มาตรา 12   ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้   

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร

         นายกรัฐมนตรี                                     

 

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ :-    เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้มีการลงทุนของบริษัทต่างประเทศในรูปแบบการจัดตั้งเป็นสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และส่งเสริมให้มีการลงทุนในลักษณะดังกล่าว สมควรกำหนดให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคและคนต่างด้าวที่ปฏิบัติงานในสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคดังกล่าว รวมทั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 119 ตอนที่ 79 ก วันที่ 15 สิงหาคม 2545)

space

NAVIGATOR:  ประมวลรัษฎากร > พระราชกฤษฎีกา > ฉบับที่ 405/2545